king1

 

พระประวัติพระบิดาแห่งกองทัพอากาศไทย

 

           จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิศณุโลกประชานารถ ทรงมีพระจริยวัตร และพระวิสัยทัศน์อันยาวไกล ทรงริเริ่มจัดตั้งกิจการบินและพัฒนาสู่การเป็นกองทัพอากาศในปัจจุบัน กองทัพอากาศจึงได้น้อมรำลึกในพระกรุณาคุณและเทิดพระเกียรติ จอมพล สมเด็จ  พระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิศณุโลกประชานารถ เป็น “พระบิดาแห่งกองทัพอากาศ” ดังสาระในคำกราบบังคมทูลถวายรายงานของ พลอากาศเอก ประพันธ์ ธูปะเตมีย์     อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงดำรง     พระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์มาทรงประกอบพิธีเปิดพระอนุสาวรีย์ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ        กรมหลวงพิศณุโลกประชานารถ ณ บริเวณภายในอาคารกองบัญชากองทัพอากาศ เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๕ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๒๗ ความว่า

           จอมพล สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิศณุโลกประชานารถ ประสูติในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ ๓ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๒๕ ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ และทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสำเร็จการศึกษาขั้นต้น           จากโรงเรียนราชกุมารในพระบรมมหาราชวัง แล้วเสด็จไปทรงศึกษาวิชาต่อในประเทศอังกฤษ ในปีพุทธศักราช ๒๔๓๙ และในปีพุทธศักราช ๒๔๔๐ เสด็จไปทรงศึกษาในโรงเรียนนายร้อยมหาดเล็ก อันมีชื่อเสียงและเก่าแก่ของกองทัพบกรัสเซีย ณ กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กหรือกรุงเลนินกราดในปัจจุบัน       ทรงสำเร็จการศึกษาสอบไล่ได้เป็นที่ ๑ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๔๕ แล้วทรงได้รับการแต่งตั้งเป็นนายทหารสัญญาบัตร ประจำกรมทหารม้าฮุสซาร์ของพระจักรพรรดิ นิโคลาสที่ ๒ ของรัสเซียในสมัยนั้น

            ต่อจากนั้น ได้เสด็จกลับมาเยี่ยมประเทศไทยระยะหนึ่ง แล้วในปีพุทธศักราช ๒๔๔๖ ได้เสด็จกลับไปทรงศึกษาต่อที่วิทยาลัยการทหาร ประเทศรัสเซีย ในหลักสูตรนายทหารฝ่ายเสนาธิการอีก ๒ ปี ทรงสอบไล่ได้ที่ ๑ อีกครั้งหนึ่ง ในปีพุทธศักราช ๒๔๔๘ ซึ่งพระจักรพรรดินิโคลาสที่ ๒ ทรงชื่นชมยินดี แต่งตั้งให้พระองค์เป็นนายพันเอกพิเศษ ในกองทัพบกรัสเซีย และเป็นนายทหารพิเศษประจำกรมทหารม้าฮุสซาร์ด้วย

            เมื่อเสด็จกลับมาประเทศไทยแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ทรงดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ และเป็นนายพันเอกแล้วได้ทรงเริ่มจัดการงานต่าง ๆ ให้เป็นระเบียบเรียบร้อยเยี่ยงอารยประเทศยิ่งขึ้น ประกอบกับที่ทรงมี พระปรีชาสามารถอันยอดเยี่ยม เมื่อทรงดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการโรงเรียนทหารบก หรือต่อมาทรงรั้งตำแหน่งเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก ก็ได้ทรงจัดวางระเบียบการศึกษาขึ้นใหม่ให้กว้างขวางและทันสมัยทัดเทียมกับโรงเรียนทหารในต่างประเทศ ทรงเอาพระทัยใส่งานทุกชนิดแม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อยก็ตาม

           ครั้นเมื่อทรงดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารบก ในปีพุทธศักราช ๒๔๕๒ ปลายรัชสมัยรัชกาลที่ ๕จนกราบถวายบังคมลาออกจากราชการทหาร ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้ทรงประกอบพระกรณียกิจอันเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศไทย ทั้งในกิจการทหารและพลเรือน ทรงดำรงตำแหน่งพิเศษอีกหลายตำแหน่งที่สำคัญ เช่น ทรงเป็นอุปนายกผู้อำนวยการสภากาชาดสยาม ทรงเป็นองคมนตรี และที่สำคัญที่สุดเกี่ยวกับกองทัพอากาศ ก็คือ

ประมาณปีพุทธศักราช ๒๔๕๔ อันเป็นระยะเวลาที่ประเทศในยุโรปกำลังตื่นตัว พัฒนาการด้านการบิน ขณะนั้นทรงดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารบก ได้ทรงเห็นความจำเป็นและความสำคัญที่ประเทศไทยจะต้องจัดหาอากาศยานไว้ป้องกันประเทศเช่นอารยประเทศ จึงทรงดำริจัดตั้งกิจการบินขึ้น เป็นแผนกหนึ่งของกองทัพบกตั้งแต่บัดนั้น และได้ทรงจัดให้มีการคัดเลือก ได้นายทหาร ๓ นาย ส่งไปศึกษาวิชาการบิน ณ ประเทศฝรั่งเศส  เมื่อนายทหารทั้ง ๓ สำเร็จวิชาการบิน จะเดินทางกลับประเทศไทยก็ได้ทรงให้นายทหารทั้ง ๓ ดูงานโรงเรียนการบินที่ Central Flying School ที่ Upavon Wilts และของรัสเซียที่เมือง Gatchina ด้วย

            เมื่อนักบินทั้ง ๓ คน เดินทางกลับประเทศไทยนั้น กระทรวงกลาโหมได้สั่งซื้อเครื่องบินจากประเทศฝรั่งเศสมาด้วย จำนวน ๘ เครื่อง เป็นเครื่องบินแบบเบรเกต์ ๔ เครื่อง และแบบนิออร์ปอร์ต       ๔ เครื่อง จัดตั้งเป็นแผนกการบิน ที่สนามราชกรีฑาสโมสร สระปทุมวัน ขึ้นอยู่ในบังคับบัญชาของ       จเรทหารช่าง และเมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๕๖ ได้จัดให้มีการแสดงการบินด้วยนักบินไทย เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งมีหลักฐานปรากฏว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงษ์วรเดช และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิศณุโลกประชานารถ เสด็จทอดพระเนตรอยู่ด้วย ท่ามกลางข้าราชการ และประชาชนอีกเป็นอันมาก การแสดงการบินได้ดำเนินไปโดยเรียบร้อย  สมเด็จฯ เจ้าฟ้าทั้ง ๒ พระองค์ ได้ทรงประทานพร และทรงแสดงความยินดีกับนักบินทั้งสามด้วย ต่อมานักบินทั้ง ๓ คือ พลอากาศโท พระยาเฉลิมอากาศ นาวาอากาศเอกพระยาเวหาสานศิลปสิทธิ์ และ    นาวาอากาศเอกพระยาทะยานพิฆาต ได้เป็นกำลังสำคัญของพระองค์ และกองทัพอากาศ
ได้ยกย่องไว้เป็น
“บุพการีกองทัพอากาศ” (ปัจจุบันกองทัพอากาศได้กำหนดการเรียกนักบินทั้ง ๓ คนนี้ว่า “บุพการีทหารอากาศ”)

           จอมพล สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ ทรงใฝ่พระทัยทำนุบำรุงส่งเสริมกิจการบินเป็นอันมาก โดยยกฐานะเป็นกองบินทหารบก ในปีพุทธศักราช ๒๔๕๗ และได้ย้ายที่ตั้งมายังตำบลดอนเมือง ตั้งแต่วันที่
๒๗ มีนาคม ๒๔๕๗ ต่อมาอีกประมาณเดือนเศษ เมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๔๕๗ ขณะนั้นทรงเป็นนายพลเอก    ได้เสด็จทอดพระเนตรการบิน และตรวจกิจการต่าง ๆ เมื่อกองบินเข้าตั้งที่ดอนเมือง พร้อมด้วย นายร้อยโท สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนศุโขทัยธรรมราชา นายเวรพิเศษเสนาธิการทหารบก และนายพลโท  พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นกำแพงเพชรอรรคโยธิน จเรการช่างทหารบก และในเดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๔๕๘ ได้ทรงจัดให้กองบินทหารบกจัดเครื่องบินเข้าร่วมการประลองยุทธใหญ่ประจำปีเป็นครั้งแรก และเป็นครั้งที่สองในเดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๔๕๙ ได้ผลเป็นที่พอใจมาก

            ในปีพุทธศักราช ๒๔๖๐ เกิดมหาสงครามโลกครั้งที่ ๑ ในทวีปยุโรป พระองค์เป็นผู้รับผิดชอบตามพระบรมราชโองการในการประกาศสงคราม และส่งกองทหารอาสาไปทำการร่วมรบกับสัมพันธมิตร ในประเทศยุโรป ในการส่งกองทหารอาสาไปในครั้งนั้น นอกจากเหตุผลทางการเมือง ส่งเสริมเกียรติคุณของประเทศชาติ และเกียรติศักดิ์ของทหารไทยแล้ว ยังมีพระประสงค์ให้ทหารได้รับความชำนาญ ที่จะได้ปฏิบัติการรบจริง และสังเกตจดจำความรู้ความชำนาญของทหารสัมพันธมิตร นำมาจัดใช้เป็นหลักบำรุงของกองทัพบกให้มีความเจริญ จึงได้จัดกำลังเป็นกองบินทหารบกหน่วยหนึ่ง มีนักบินและช่างเครื่องยนต์ และกองทหารบกรถยนต์อีกหน่วยหนึ่ง ในกองบินทหารบกมีกำลังพลทั้งสิ้น ๓๑๕ นาย นักบินและช่างเครื่องยนต์เหล่านี้ เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๑ สิ้นสุดลง ได้เดินทางกลับมายังประเทศไทยและได้เป็นกำลังสำคัญในการวางรากฐานของกองทัพอากาศเป็นอย่างยิ่ง สมตามพระประสงค์ทุกประการ

 

           จอมพล สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ ทรงใฝ่พระทัย ทำนุบำรุงส่งเสริมกิจการบินทุกวิถีทาง นอกจากในกิจการทหารแล้ว ยังทรงจัดให้ทดลองการลำเลียงผู้เจ็บป่วยทางอากาศ และยกฐานะกองบินทหารบกเป็นกรมอากาศยาน ในปีพุทธศักราช ๒๔๖๑ ทั้งนี้ด้วยทรงตระหนักถึงแสนยานุภาพทางการบินเป็นอย่างยิ่ง ดังมีพระดำรัสไว้ว่า “กำลังทางอากาศเป็นโล่อันแท้จริงอย่างเดียว ที่จะกันมิให้สงครามมาถึงท่ามกลางประเทศของเราได้ ทั้งนี้เป็นประโยชน์ยิ่งใหญ่ในการคมนาคมในเวลาปกติ”

           พระองค์ทรงให้การสนับสนุนนายทหารทั้ง ๓ นาย ที่ได้ส่งไปศึกษาวิชาการบิน ณ ประเทศฝรั่งเศส เต็มที่ตลอดมา แม้ในเรื่องส่วนตัว เช่น เมื่อนายพันตรี หลวงทะยานพิฆาต ทำการวิวาห์มงคล     ที่บ้านวรจักร์ เมื่อวันที่ ๑๓ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๖๐ ก็ได้เสด็จพร้อมด้วยพระชายา ไปประทาน      น้ำพระพุทธมนต์ ซึ่งแสดงให้เห็นพระจริยวัตรที่ทรงรักใคร่ผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นอย่างยิ่ง

            พระกรุณาธิคุณ ที่ทรงมีต่อกองทัพอากาศ และกิจการบินในประเทศไทย มีอยู่อเนกประการ    จึงเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๐๐ กองทัพอากาศในสมัย จอมพลอากาศ ฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคนี เป็น         ผู้บัญชาการทหารอากาศ ได้พิจารณาเห็นควรสร้างพระอนุสาวรีย์ขึ้นไว้เป็นที่เคารพสักการะและเทิดทูนว่า เป็นผู้ทรงก่อตั้งรากฐานสถาบันการบินในประเทศไทย โดยให้กรมศิลปากรดำเนินการปั้นและหล่อ และให้ประดิษฐานไว้หน้ากรมการบินพลเรือน ในขณะนั้นอยู่ทางตะวันตกของสนามบินดอนเมือง และเป็นเขต ท่าอากาศยาน มีความสง่างาม โดยได้กระทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๐๐

            ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๕๒๓ กองทัพอากาศได้เตรียมการย้ายที่ตั้งกองบัญชาการกองทัพอากาศ จากฝั่งตะวันตกของสนามบิน มายังฝั่งตะวันออก เพื่อมอบพื้นที่ให้การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย    ใช้พัฒนาขยายสนามบินดอนเมือง การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ขอให้กองทัพอากาศระงับการย้ายพระอนุสาวรีย์ และขอให้ประดิษฐานไว้เพื่อเป็นศูนย์รวมด้านจิตใจ และเป็นที่เคารพสักการะของพนักงาน ลูกจ้าง และประชาชนที่เข้ามาปฏิบัติงานและประกอบกิจการ ณ ท่าอากาศยานกรุงเทพ ต่อไปดังเดิม กองทัพอากาศจึงมอบพระอนุสาวรีย์องค์เดิมไว้แก่การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย และขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตสร้างพระอนุสาวรีย์ จอมพล สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิศณุโลกประชานารถ ขึ้นใหม่ เพื่อประดิษฐานไว้ภายในกองบัญชาการกองทัพอากาศ ในแบบประทับยืน ขนาดสูง ๒ เมตร ในฉลองพระองค์เต็มยศจอมพล โดยขอให้กรมศิลปากรดำเนินการปั้นและหล่อ ทั้งนี้ได้ทรง     พระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพระบรมราชานุญาต กรมศิลปากรได้ดำเนินการปั้น และหล่อ สิ้นเงินค่าใช้จ่ายเงินงบประมาณในส่วนของกองทัพอากาศ เป็นเงิน ห้าแสนห้าหมื่นบาทถ้วน และเป็นค่าฐานพระอนุสาวรีย์ เก้าแสนห้าหมื่นบาทถ้วน แล้วนำขึ้นประดิษฐานเรียบร้อย เมื่อวันที่         ๑ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๒๗

           จอมพล สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิศณุโลกประชานารถ ทรงอุบัติขึ้น            ในพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงมีพระปรีชาสามารถและมีพระอัจฉริยภาพทางทหาร รับราชการสนอง     พระเดชพระคุณ ทรงวางรากฐานต่าง ๆ โดยเฉพาะทางการฝึกศึกษาไว้ในกองทัพบกจนมั่นคงทุกวันนี้  ทรงมีความจงรักภักดีต่อประเทศชาติ พระมหากษัตริย์ อย่างยอดเยี่ยม ยากที่จะหาบุคคลใดเสมอเหมือน ทรงเป็นที่รักใคร่เทิดทูนของบรรดาผู้ใต้บังคับบัญชา และทหารโดยทั่วไป พระเกียรติคุณยังปรากฎสืบทอดมาเนิ่นนานจนบัดนี้ นับว่าทรงมีพระคุณูปการแก่กองทัพอากาศเป็นอย่างยิ่งล้นพ้น ในแผ่นจารึกด้านหลังพระอนุสาวรีย์นี้ กองทัพอากาศจึงได้จารึกยกย่องถวายพระเกียรติไว้ว่า เป็น “พระบิดาแห่งกองทัพอากาศไทย”

 

           จากคำกราบบังคมทูลถวายรายงานเบื้องต้น สรุปความได้ว่าจอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิศณุโลกประชานารถ ทรงได้รับการเทิดพระเกียรติเป็นพระบิดาแห่งกองทัพอากาศไทย ด้วยทรงเป็นผู้วางรากฐานกองทัพอากาศในปัจจุบัน ทรงริเริ่มและวางรากฐานกิจการด้านการบิน ได้แก่

            - ทรงหารือกับกรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช เรื่องการริเริ่มให้สยามมีกำลังทางอากาศ

            - ส่งบุพการีทหารอากาศทั้ง ๓ คน ไปศึกษาและฝึกบินที่ประเทศฝรั่งเศส และดูงานด้านการบินที่รัสเซีย และอังกฤษ

            - การจัดตั้งแผนกการบินขึ้นกับกองทัพบก

            - การจัดซื้อเครื่องบินจากฝรั่งเศส จำนวน ๗ เครื่อง และได้รับบริจาคอีก ๑ เครื่อง

            - ปรับขยายหน่วยเป็นกองบินทหารบก พร้อมกับย้ายมาตั้งอยู่ที่ดอนเมือง

            - ปรับขยายหน่วยเป็นกรมอากาศยานทหารบก ซึ่งต่อมาปรับเป็นกรมอากาศยาน นับเป็นจุดเริ่มต้นของการแยกจากกองทัพบกมาเป็นกองทัพอากาศ

            - ทรงทดลองการคมนาคมทางอากาศ เป็นการพิสูจน์ว่ากำลังทางอากาศสามารถนำมาปรับใช้ในกิจการงานด้านพลเรือนเพื่อพัฒนาประเทศชาติได้

            - จัดส่ง “หม่อมเจ้าวิศิษฎ์สวัสดิรักษ์ สวัสดิรัตน์” ไปศึกษาที่โรงเรียนนายเรืออากาศ “แครนเวล” ของอังกฤษ เพื่อวางรากฐานด้านโครงสร้างและการจัดตามแบบกองทัพอากาศแรกของโลกที่แยกตัวจากกองทัพบกและกองทัพเรือ

               ตลอดระยะเวลาการรับราชการทหาร สนองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถึง        ๒ รัชกาลของ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิศณุโลกประชานารถพระองค์มิได้ทรงหยุดคิดที่จะพัฒนางานและกิจการต่าง ๆ เลย นับจากปีที่พระองค์เสด็จกลับจากรัสเซียตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๔๙ จนถึงทิวงคต เมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๔๖๓ กำลังทางอากาศได้พัฒนาก้าวหน้ามาเป็นลำดับ และยกฐานะขึ้นเป็นกองทัพอากาศ เมื่อวันที่ ๙ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๘๐ กองบิน ๗ กองทัพอากาศ ขอน้อมรำลึกในพระกรุณาธิคุณ และขอสืบสานพระราชปณิธานแห่ง จอมพล สมเด็จ   พระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิศณุโลกประชานารถ ในการเสริมสร้างและพัฒนา กองบิน ๗ กองทัพอากาศ ให้เป็นดั่งโล่ ที่มีความเข้มแข็ง พร้อมปกปักรักษา ทำนุบำรุงชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชน ตลอดไป

 

 

                       -------------------------------------------------------------------------------------------