"ศักดิ์สิทธิ์ สูงสุด แห่งศรัทธา บารมีจากฟากฟ้า จรดดิน"

ปี 2568
May 23, 2025 by
adminweb


​กองบิน ๗ นำแผ่นชนวนมวลสารเข้ากราบนมัสการ ขอความเมตตาจากพระเกจิอาจารย์ในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อประกอบพิธีเททองหล่อพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

​นาวาอากาศเอก ศุภวัจน์  จิตรมนตรี ผู้บังคับการกองบิน ๗ พร้อมด้วย นาวาอากาศเอก จักริน  ภูวเดชาพงศ์ รองผู้บังคับการกองบิน ๗ (๑), นาวาอากาศเอก สมภพ พันธ์ศรี รองผู้บังคับการกองบิน ๗ (๒) และนาวาอากาศเอก เฉลิมชัย  ชำนาญยนต์ เสนาธิการกองบิน ๗ ได้นำแผ่นชนวนมวลสาร ได้แก่ แผ่นทองคำ แผ่นเงิน และแผ่นนาก เข้ากราบนมัสการขอความเมตตาจากพระเกจิอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อเมตตาประกอบพิธีลงอักขระ และอธิษฐานจิตแผ่นมวลสารดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่ออัญเชิญไปประกอบพิธีเททองหล่อ พระพุทธรูปประจำพระชนมวาร พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว อันเป็นพระราชพิธีอันสำคัญยิ่ง ในการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวาระวันเฉลิมพระชนมพรรษา โดยคณะได้เข้ากราบนมัสการและขอเมตตาอธิษฐานจิตจากพระเกจิอาจารย์จำนวน ๘ รูป ระหว่างวันที่ ๑๖ - ๒๒ เดือน พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๘ ได้แก่

​๑. พระพรหมวชิรเมธาจารย์ (หลวงพ่อพงศ์สรร อสิญาโณ) วัดไตรธรรมาราม อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี

​๒. พระสุนทรวชิรนายก (หลวงพ่อเที่ยง ญาณุชุโก) วัดธรรมบูชา ตำบลตลาด อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี

​๓. พระวชิรปริยัตยาภรณ์ (หลวงพ่อสมบูรณ์ สมฺปุณโณ) วัดพัฒนาราม ตำบลตลาด อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี

​๔. พระครูปริยัติคุณาวุธ (พระอาจารย์เสรี ภูริปญฺโญ) วัดกลางใหม่ ตำบลมะขามเตี้ย อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี

​๕. พระครูมหาเจติยารักษ์, ดร. (พระอาจารย์แดง เขมจาโร) วัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร ตำบลเวียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี

​๖. พระครูชลาธรธำรง (หลวงพ่อทอง ธิติวณฺโณ) วัดสถลธรรมาราม ตำบลท่าข้าม อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี

​๗. พระครูโกวิทนวการ (หลวงพ่อประภาส โกวิโท) วัดพุนพินใต้ ตำบลท่าข้าม อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี

​๘. พระครูอานันทคุณากร (หลวงพ่อซ้าย นนฺทโก) วัดหาดน้อย ตำบลบางมะเดื่อ อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี

        ​สำหรับ พระพุทธรูปประจำพระชนมวาร องค์นี้ ได้รับการออกแบบให้เป็นพระพุทธรูปประทับยืน ทรงเครื่องจักรพรรดิราชาธิราช ตามลักษณะพุทธศิลป์อันวิจิตร มีพระพักตร์ทรงรี พระขนงโก่ง พระเนตรเหลือบต่ำ เปลือกพระเนตรเป็นกลีบบัว ปลายพระเนตรยาว พระนาสิกเป็นสัน พระโอษฐ์เรียวบาง ประดับพระอุณาโลมเหนือพระนลาฏ กรรเจียกจอน และพระกุณฑล ทรงพระมหาพิชัยมงกุฎ องค์พระพุทธรูปมีรูปแบบศิลปกรรมผสมผสานระหว่างศิลปะสุโขทัยและรัตนโกสินทร์อย่างงดงามและทรงคุณค่าการจัดสร้างพระพุทธรูปในครั้งนี้นับเป็นกิจกรรมอันสำคัญยิ่งเพื่อเฉลิมพระเกียรติ และแสดงออกถึงความจงรักภักดีอย่างหาที่สุดมิได้ต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้